วะกาซะ หรือ ร่มญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในงานฝีมือที่เริ่มหาดูได้ยากขึ้้นเรื่อยๆ ลองมาดูเสน่ห์ของร่มญี่ปุ่นที่หลายคนยังคงหลงใหลและสืบทอดกันถึงปัจจุบัน
พอถึงหน้าฝนไม่ว่าจะที่ไหนๆ ก็ต้องมีร่มเป็นหนึ่งในของจำเป็นแน่นอน ญี่ปุ่นเองก็มีร่มแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า วะกาซะ (Wagasa : 和傘) แปลว่า ร่มญี่ปุ่น แต่การมาถึงของร่มพลาสติกทำให้ผู้คนสนใจร่มแบบดั้งเดิมน้อยลงไปเรื่อยๆ
ครั้งนี้เรามีโอกาสได้คุยกับคุณอัตสึโกะ (atsuko12) เจ้าของร้านร่มญี่ปุ่นสึจิคุระ (Tsujikura) ในเกียวโต ผู้เผยแผ่ความงามของร่มญี่ปุ่นผ่านโซเชียลมีเดีย มาดูกันว่าอะไรคือเสน่ห์ของร่มญี่ปุ่นที่คุณอัตสึโกะหลงใหล
เสน่ห์ของร่มญี่ปุ่นอยู่ที่ตอนกางร่มออกมา ตัวร่มที่เรียกได้ว่าเป็นวงกลมสมมาตรอย่างสวยงาม แต่ที่อยากให้ดูเป็นพิเศษคือด้านใน
ซี่ร่มหลายสิบซี่แผ่กระจายออกไปในระยะห่างระหว่างซี่ที่เท่ากัน ซี่สีแดงตัดกับกระดาษญี่ปุ่นคาราคามิสีเข้ม ดูโดดเด่นแต่ก็ลงตัว
หลังจากชื่นชมความงามของรูปร่างไปแล้วพอได้ลองถือดูก็รู้สึกได้เลยว่าร่มญี่ปุ่นนี้ถือง่ายถนัดมือกว่าที่คิดเยอะเลย
ความงามที่แอบซ่อนอยู่และความสะดวกสบายใช้งานง่ายของร่มญี่ปุ่นนี้มีที่มาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น
Image https://visitgifu.com/th/see-do/gifu-japanese-umbrella/
หากจะย้อนรอยดูประวัติความเป็นมาของร่มญี่ปุ่นล่ะก็คงต้องย้อนกลับไปถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ตอนนั้นได้มีการนำร่มชนิดหนึ่งชื่อ "ร่มเท็นไก" มาจากประเทศจีน
แต่ร่มเท็นไกนี้ไม่สามารถพับได้ นานวันเข้าชาวญี่ปุ่นก็เริ่มปรับปรุงร่มเท็นไก เปลี่ยนมาใช้กระดาษญี่ปุ่นกบผืนร่ม เอาไม้ไผ่มาใช้ทำโครงร่ม
กล่าวกันว่าร่มญี่ปุ่นแบบที่สามารถหุบกางคล้ายกับที่เห็นในปัจจุบันนี้ถูกพัฒนาสำเร็จในช่วงยุคมุโรมะจิ (ช่วงปีค.ศ. 1336 - 1573)
บางครั้งก็มีคนเรียกร่มญี่ปุ่นว่า บังกาซะ หนึ่งในทฤษฎีที่มาของชื่อนี้บอกว่าสมัยก่อนโรงแรมและร้านอาหารจะมีร่มไว้บริการลูกค้าโดยจะเขียนหมายเลขเอาไว้ที่ร่มนั่นเอง (คำว่า บัง แปลว่า ลำดับเลข)
Image เสียงเม็ดฝนที่ตกกระทบผืนกระดาษของร่มก็เป็นเอกลักษณ์ ฟังแล้วเพลินหู
ศิลปินภาพพิมพ์อุคิโยะเอะในยุคเอโดะก็ชอบนำคนถือร่มญี่ปุ่นมาใส่ลงในภาพเช่นกัน จึงทำให้ผลงานชั้นครูมากมายมีภาพของคนกับร่มญี่ปุ่นอยู่อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน เป็นหลักฐานว่าร่มญี่ปุ่นอยู่คู่กับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาช้านาน
ถึงแม้ว่าคนจะหันไปใช้ร่มแบบใหม่แทนร่มญี่ปุ่นกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่างฝีมือก็ยังคงเดินหน้าทำร่มญี่ปุ่นกันต่อไปเพื่อรักษาภูมิปัญญางานฝีมือดั้งเดิมนี้ แต่กว่าจะได้ร่มญี่ปุ่นแต่ละคันนั้นต้องใช้เวลาทำนานพอสมควร เพราะไหนจะหาคนมาสืบทอดวิชาเพื่อรับช่วงต่อ ไหนจะหาวัตถุดิบสำหรับทำร่มที่หายากขึ้นเรื่อยๆ
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำร่มญี่ปุ่นคือไม้ไผ่ ไม้ต้นเอโกะโนะคิ (ต้นกำยานญี่ปุ่น) ยางรัก และกระดาษญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังใช้น้ำมันพืชในการเคลือบกระดาษเพื่อให้มีคุณสมบัติกันน้ำ จะเห็นว่าร่มญี่ปุ่นไม่ได้ใช้วัตถุดิบอะไรมากมายเลย
ซี่และโครงด้ามทำจากไม้ไผ่ ซึ่งจะถูกนำมาเย็บติดกันด้วยเชือกโดยมี โรคุโระ หรือตุ้มร่มด้านบนเป็นตัวช่วยยึด โรคุโระทำมาจากไม้ของต้นเอโกะโนะคิ (ต้นกำยานญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง
ถัดไปคือการทำผืนร่ม จากรูปจะเห็นว่าปลายรอบนอกของผืนร่มกับช่วงกลางผืนร่มจะมีวงกลมสีเข้มกว่าที่อื่นๆ เพราะมีการติดกระดาษยึดเอาไว้ก่อนหนึ่งชั้น วงกลมรอบนอกสุดจะเรียกว่า โนคิกามิ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและใช้เป็นที่ยึดกระดาษปลายผืนร่ม ส่วนวงกลมรอบในเรียกว่า นาคาโอคิกามิ เพิ่มความแข็งแรงให้กับส่วนซี่ร่มที่ยึดกับโครงร่ม บางครั้งก็ใช้กระดาษคนละสีกับผืนร่มเพิ่มความสวยงามไปในตัว
เสร็จแล้วถึงค่อยนำเอากระดาษญี่ปุ่นแผ่นใหญ่ที่ตัดทรงเข้ากับซี่ร่มมาแปะทีละแผ่นจนเต็มคันร่ม
จากนั้นก็ทาน้ำมันจากพืชเพื่อคุณสมบัติกันน้ำ แห้งแล้วก็ทากระดาษส่วนที่ติดกับซี่ร่มด้วยยางรักหรือยางไม้เพิ่มความแข็งแรงทนทาน เมื่อแห้งดีแล้วก็เป็นการประดับตกแต่งเช่นการถักด้ายที่โครงด้านใน
นี่เป็นขั้นตอนคร่าวๆ เท่านั้น ที่จริงยังมีขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมาย ยังไม่นับเวลาและกระบวนการที่ต้องใช้ความประณีตสูงอีกกว่าจะเสร็จออกมาเป็นร่มหนึ่งคัน เป็นความใส่ใจและความตั้งใจที่จะสืบสานวัฒนธรรมของร่มญี่ปุ่นที่น่านับถือจริงๆ
ด้วยความที่ร่มแบบสมัยใหม่เป็นที่นิยมในชีวิตประจำวัน ร่มญี่ปุ่นจึงมักนำมาใช้กันในโอกาสพิเศษเช่นพิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม เลยเป็นที่มาของการใช้ร่มญี่ปุ่นคู่กับชุดกิโมโน
บ้างก็เอาไปใช้เป็นของประดับตกแต่งสถานที่ บ้างก็ใช้ประหนึ่งงานศิลปะ พูดอย่างนี้ก็อย่าเพิ่งคิดไปว่าร่มญี่ปุ่นเป็นของใช้ยาก เพราะยังไงเสียนี่ก็เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่ง วันไหนที่ฝนตกก็หยิบเอาร่มญี่ปุ่นมากางใช้ได้เลย
เสียงเม็ดฝนที่ตกกระทบผืนกระดาษของร่มก็เป็นเอกลักษณ์ ฟังแล้วเพลินหู
หากมีโอกาสผ่านไปเจอร้านขายร่มญี่ปุ่นก็ลองเข้าไปเดินดูร่มสวยๆ สัมผัสงานฝีมือของช่างญี่ปุ่นกันดูนะ ไม่แน่อาจจะเจอร่มสวยๆ ที่ถูกใจขึ้นมาก็ได้
แปลโดย MATCHA TH
เขียนโดย Kasumi Hashimoto